Saturday, September 22, 2012

เทคนิคการทาสีบ้านหลังเก่า




ผมว่าควรจะถือโอกาสนี้สร้างความผูกพันระหว่างคนในครอบครัวด้วยการช่วยกันทาสีบ้านหลังเก่าให้ดูใหม่
ก็ดีไปอีกแบบ แต่ก่อนที่จะเริ่มลงมือทาสีบ้านเรานั้น มาทำความรู้จักกับสีชนิดต่างๆ กันสักเล็กน้อยก่อนดีกว่า
คุณจะได้เลือกใช้สีให้เหมาะสมกับงานในสภาพต่างๆ ครับ

ปัจจุบันผนังบ้านของเรามักจะเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูนเรียบ (จริงหรือเปล่า)ทาสี
การทาสีผนังแบบนี้จะแบ่งสีออกเป้น 2 ชนิด ก่อนทำการทาสีควรตรวจสอบดูก่อนว่า
ผนังเก่าของคุณมีรอยร้าวหรือไม่หากพบว่ามีรอยแตกร้าวก็สามารถทำการโป้วด้วยอะคริลิกซิลิโคน (สีขาว)
หากพบสีหลุดร่อนก็ทำการขูดออกเสียก่อนที่จะขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 4 อีกครั้ง
เพื่อความเรียบเนียนของพิ้นผิว
เมื่อทราบขั้นตอนการเตรียมพื้นผิวแล้วก็มาทำความรู้จักกับสีที่จะใช้กันเลยครับ

สีที่ใช้สำหรับงานปูน ได้แก่ สีทารองพื้นและสีจริง แตกต่างกันอย่างไร มีคำอธิบายครับ

1.สีทารองพื้น มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันครับ ได้แก่
- สีทารองพื้นชนิดที่ทำจากอะคริลิก ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อราใช้ทารองพื้นผนังปูนฉาบทั่วๆ ไป
ก่อนทาควรผสมน้ำเจือจางประมาณ 20% ของสี
- สีทารองพื้นชนิดที่ทำมาจากอัลคาไล สีชนิดนี้นอกจากจะป้องกันเชื้อราได้ดีแล้ว
ยังป้องกันความชื้นได้ดีกว่าสีทารองพื้นชนิดที่ทำจากอะคริลิก
การใช้งานกับบ้านเก่าควรเลือกสีประเภทนี้ ชนิดรองพื้นปูนเก่า ผสมน้ำ 20% ทารองพื้นก่อนทาสีจริง

2.สีจริง หรือที่เราเคยได้ยินกันติดหูว่าสีน้ำพลาสติกนั่นล่ะครับ สีพวกนี้ทำมาจากสารจำพวกลาเท็กซ์และอะคริลิก
มีการยึดเกาะและยืดหยุ่นที่ดี มีส่วนผสมที่สามารถต่อต้านเชื้อราเหมาะกับสภาพอากาศเมืองร้อนอย่างบ้านเรา
ทำความสะอาดง่ายก่อนใช้ควรผสมน้ำให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมตามที่ผู้ผลิตสีแนะนำไว้ (ข้างกระป๋องไงครับ)


สีที่ใช้สำหรับงานไม้
สีชนิดนี้มีประโยชน์ในด้านการป้องกันไม่ให้ความชื้นจากภายนอกเข้าไปทำลายเนื้อไม้
และยังช่วยรักษาความชื้นสัมพัทธ์ของเนื้อไม้เอาไว้ได้ดี ไม้จึงไม่เกิดการแตกร้าว หากได้รับการทาสีอย่างถูกวิธี
สีทาไม้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดเช่นเดียวกับสีทาปูน คือ สีรองพื้นและสีจริง

1.สีทารองพื้นไม้ มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันครับ ได้แก่
สีทารองพื้นไม้ชนิดผสมอะลูมิเนียม ใช้ทารองพื้นไม้ชั้นแรก
เพื่อป้องกันยางไม้และความชื้นภายในไม่ให้ไหลออกมาปะปนกับสีจริง

สีทารองพื้นไม้สีน้ำมัน เป็นสีที่แห้งเร็วเนื่องจากมีทินเนอร์เป็นส่วนผสมทำให้สีเจือจาง
เหมาะสำหรับทารองพื้นครั้งแรกหรือทาทับไม้ที่เคยทาสีอื่นมาก่อน
สีชนิดนี้ทนทานต่อรอยขีดข่วนดี และทนความร้อนได้สูงถึง 90 องศาเซลเซียส

2.สีจริง คือ สีที่ทาลงไปชั้นนอกสุดเพื่อความสวยงาม สามารถเลือกได้ว่าจะใช้สีโทนไหน
จะเอาหวานแหววหรือเข้มขรึมสักแค่ไหน แล้วแต่ความชอบของแต่ละท่าน
ส่วนใหญ่ทำมาจากใยสังเคราะห์ เนื้อสีที่ทาแล้วจะมีความมันเป็นเงางาม มีการต้านทานเชื้อราที่ดี
ทนการขีดข่วนพอสมควร บางชนิดทนความร้อนได้สูงถึง 93 องศาเซลเซียส


สีที่ใช้สำหรับงานโลหะ จัดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือสีทารองพื้นและสีจริง

1.สีทารองพื้นโลหะ มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันครับ ได้แก่
สีทารองพื้นโลหะชนิดผสมผงซิงค์โครเมท ภาษาชาวบ้านก็สีกันสนิมนั่นล่ะครับ
สีชนิดนี้จะทำหน้าที่ป้องกัน ไม่ให้เหล็กสูญเสียอิเล็กตรอนให้กับอากาศ
ดังนั้นเหล็กจึงไม่เกิดสนิม ก่อนทาควรกำจัดสนิมให้หมดเสียก่อน แล้วผสมให้เจือจางด้วยทินเนอร์

สีทารองพื้นโลหะชนิดที่ทำมาจากอีพอกซี่ ใช้ทารองพื้นผิวที่เป็นเหล็กป้องกันการกัดกร่อนได้ดีมาก
สีชนิดนี้ส่วนใหญ่จะใช้ทารองพื้นโลหะในเรือเดินสมุทร

2.สีจริง เป็นสีที่ใช้ทาทับเพื่อความสวยงาม เป็นสีน้ำชนิดเดียวกับที่ใช้ทาไม้นั่นล่ะครับ
เนื่องจากสีน้ำมันมีคุณสมบัติการยึดเกาะได้ดีทั้งไม้ ปูน และโลหะ (ผิวไม่เรียบ)

อุปกรณ์ทาสี
เครื่องไม้เครื่องมือที่คุณจะต้องเตรียมสำหรับการทาสีก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ต้องเลือกใช้ให้ถูกประเภทของสี
เป็นความรู้ในการเลือกซื้อถูก จะได้ไม่ต้องเสียเงินฟรี หรือเสียเวลาเอาไปเปลี่ยนการทาสีน้ำมัน
คุณจะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้

แปรงสำหรับทาสีน้ำมัน มีขนาดความกว้างหลายขนาด หากพื้นที่กว้างก็เลือกชนิดหน้ากว้าง
หากพื้นที่แคบก็เลือกขนาดเล็กๆ สักหน่อยสีจะได้ไม่เลอะส่วนที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณที่จะทา

ภาชนะผสมสี ควรเตรียมให้มีขนาดที่เหมาะสม
เพราะการผสมสีต้องผ่านกรรมวิธีการคนสีให้เข้ากับทินเนอร์ก่อนทาไม่ควรใช้ภาชนะพลาสติกนะครับ
เพราะทินเนอร์หรือน้ำมันสนนั้นจะกัดเนื้อผิวพลาสติกจนละลาย

ภาชนะแช่และล้างแปรง เมื่อทาสีเสร็จเรียบร้อย แปรงต่างๆ ยังคงสามารถเก็บไว้ใช้ได้
ดังนั้นเราควรมีภาชนะสำหรับแช่และทำความสะอาดแปรงด้วย
ภาชนะไม่ควรเป็นพลาสติก เพราะทินเนอร์หรือน้ำมันสนนั้นจะกัดเนื้อผิวพลาสติกจนละลายเช่นกัน


การทาสีน้ำพลาสติก มีอุปกรณ์ต่างออกไปจากสีน้ำมันดังนี้ครับ
แปรงดอกหญ้า (ทำมาจากดอกหญ้า) ชนิดเดียวกับที่เราใช้กวาดบ้านนั่นล่ะ
แต่จะไม่มีด้ามมัดให้ปลายดอกบานออกใช้จุ่มสีทาได้ ช่างมืออาชีพส่วนใหญ่จะใช้แปรงชนิดนี้
แปรงชนิดนี้ใช้แรกๆ มักจะมีสีเหลืองตกออกมา ดังนั้นควรแช่น้ำให้สีตกออกมาเสียก่อน จึงนำไปใช้ทาสีได้

ลูกกลิ้ง จะดีกว่าแปรงตรงที่ทาสีได้สม่ำเสมอ และรวดเร็วกว่า
แต่ลูกกลิ้งไม่สามารถทาแทรกเข้าไปตามซอกมุมได้ ดังนั้นจึงต้องใช้แปรงช่วยในการเก็บงานอีกครั้งหนึ่ง


การเตรียมพื้นผิว
ผิวโลหะ : ถ้าเป็นสนิม อย่ามองข้ามให้กำจัด (ให้สิ้นซาก) ให้หมดก่อน
ด้วยการใช้กระดาษทรายขัดบริเวณที่เป็นสนิม แล้วทารองพื้นกันสนิมก่อนทาสีจริงทับ

ผิวไม้ : ต้องมั่นใจว่าไม้นั้นแห้งสนิทแล้วจึงทำการขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ
เช็ดฝุ่นผงไม้ที่เกิดจากการขัดออกให้หมด ก่อนทาทับด้วยสีรองพื้นไม้กันเชื้อรา
หากเป็นไม้เก่าที่ผ่านการทาสีมาแล้ว แต่สภาพดีก็สามารถใช้กระดาษทรายบะเอียดขัดได้เลย
ก่อนล้างฝุ่นออกรอให้แห้งสนิท แล้วจึงทาสีทับต่อไป
แต่ถ้าสีเดิมมีการหลุดร่อน แตกลาย จะต้องใช้น้ำยากัดสีเก่าออกก่อน น้ำยากัดสีตัวนี้แรงนะครับ
ก่อนใช้ต้องมีการป้องกีนร่างกายของเราด้วยการใส่ถุงมือและระวังอย่าให้กระเด็นถูกส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เพราะว่าจะแสบมาก เมื่อลอกสีเก่าออกหมดแล้ว ควรทำความสะอาด จากนั้นทารองพื้น 2 ครั้ง
ทิ้งระยะเวลาห่างกัน 24 ชั่วโมง ก่อนทาทับอีกครั้ง หรือตามคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์ (ข้างกระป๋อง)
ส่วนสีจริงต้องทาชั้นแรกทิ้งไว้ 16 ชั่วโมงแล้วค่อยทาชั้นที่ 2

ผิวปูน : หากเป็นผนังปูนใหม่ต้องรอให้ผนังแห้งดีเสียก่อนแล้วใช้กระดาษทรายลูบ
เพื่อให้เม็ดทรายหรือคราบน้ำปูนหลุดออก ก่อนทาทับด้วยสีรองพื้น และสีจริงตามลำดับ
หากเป็นผนังเก่าให้ตรวจดูสภาพหากชำรุดมากให้ทำการล้างและขัดออกด้วยแปรงลวด
จากนั้นอุดโป้วรอยร้าวก่อนทำการขัดด้วยกระดาษทราย ทารองพื้นด้วยสีรองพื้นปูนเก่า 1 ครั้งและสีจริง 3 ครั้ง

ก็เป็นอันพอจะรู้ขั้นตอนต่างๆ ของการทาสีกันบ้างแล้วนะครับ
สำหรับท่านใดที่ไม่มีเวลาแต่อยากเปลี่ยนบ้านหลังเก่าของคุณให้ดูใหม่ก็จ้างช่างครับ
แต่เตือนกันไว้สักเล็กน้อยครับ ช่างบางคนตบตาเจ้าของบ้านเพราะความขี้เกียจ เช่น
การเตรียมผิวไม้ต้องขัดกระดาษทรายให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงทาสี
ช่างบางคนแอบใช้สีพลาสติกทาทับอุดรอยเสี้ยนไม้ไปเลย รอจนแห้งแล้วใช้สีน้ำมันทาทับ
ดูว่างานสีน้ำมันค่อนข้างเรียบร้อยแต่นานไปจะเกิดการแตกและหลุดร่อนออกมาต้องรื้องานมาซ่อมกันใหม่ภายหลัง
แบบนี้ไม่ดีแน่ หากมีเวลาแอบดูวิธีการทำงานของช่างบ้าง ก็จะดีนะครับ

บทความจาก: HOME CARE
ผู้แต่ง: คุณวุฒิ นิยมทรัพย์

No comments:

Post a Comment